ทับหลังสลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ปราสาทพะโค จังหวัดนครราชสีมา
มหัศจรรย์แห่งเอเชีย
สรวงสวรรค์แห่งองค์อินทร์
ตำนานและ
คติความเชื่อ
เกี่ยวกับพระอินทร์
และช้างเอราวัณผู้พิทักษ์
พระพุทธศาสนา
ในคติทางพุทธศาสนา มักเรียกพระอินทร์โดยทั่วไปในชื่อท้าวสักกะหรือท้าวศักระ เป็นผู้ปกครองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะนั้นในบางครั้งมักถูกเรียกด้วยชื่อ “อินทระ” หรือในชื่อที่เรียกขานทั่วไปอีกชื่อว่า “เทวานัม อินทระ” อันหมายถึง “จอมเทพ” หรือ “หัวหน้าแห่งเทพทั้งหลาย” (สันสกฤต: อินฺทฺร, บาลี: อินฺท) ส่วน ช้างเอราวัณ นั้น เรียกใน ภาษาสันสกฤตว่า ไอราวต หรือ ไอราวณ ภาษาบาลี เรียกว่า เอราวณ ส่วนในภาษาไทยเรียกว่า ไอราพต ไอราวัต ไอราวัณ และเอราวัณ ชื่อต่างๆ ทั้งหมดนี้มีความหมายถึง น้ำ เมฆฝน รุ้ง แปลรวมว่ากลุ่มก้อนเมฆที่มีฟ้าแลบ และทำให้เกิดฝนตก โดยมีความสอดคล้องที่ว่า พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณท่องเที่ยวไปบนสวรรค์ แล้วทรงโปรยฝนให้ตกลงมายังโลก
ภาพวาดจากสมุดไตรภูมิ
แสดงทิพยวิมานชั้นดาวดึงส์ และช้างเอราวัณ
ภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ภาพจากตำราภาพเทวรูปไสยาศาสตร์
ส่วนตำนานที่เกี่ยวกับช้างเอราวัณนั้นก็มีกล่าวไว้อยู่หลายสำนวน หลายคัมภีร์ บางตำนานก็ว่า พระอิศวรได้ประทานช้างเอราวัณให้เป็นช้างทรงของพระอินทร์ บ้างก็ว่าช้างเอราวัณนั้นเป็นเทพบุตร อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปที่ใด เทพบุตรเอราวัณจะแปลงกายเป็นช้างเผือกสีขาว ชื่อว่า เอราวัณ
ในคัมภีร์วิษณุปุราณะของศาสนาฮินดูก็กล่าวว่า ช้างเอราวัณเป็นหนึ่งในสิ่งวิเศษที่เกิดขึ้นเมื่อคราวเหตุการณ์กวนเกษียรสมุทร เมื่อครั้งที่พระวิษณุอวตารลงมาเป็นเต่าที่เรียกว่า กูรมาวตาร และในคัมภีร์ไตรภูมิกถากล่าวว่า ช้างที่มาฆมานพใช้งานในการสร้างศาลาเพื่อพำเพ็ญประโยชน์บนโลกมนุษย์นั้นตายไปได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรเอราวัณ เพื่อเป็นช้างทรงให้กับมาฆมานพที่อานิสงค์ได้หนุนส่งให้ไปเกิดเป็นพระอินทร์
เอราวัณเป็นช้างที่รูปร่างสูงใหญ่เหมือนภูเขา ผิวกายเผือกผ่อง เป็นช้างที่มีพลังมาก ถือเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งหลาย ในคัมภีร์มหาภารตะ กล่าวว่า “ช้างไอราวตะมีงา ๔ งา มี ๓ งวง รูปร่างใหญ่มหึมา และเป็นช้างเผือก ส่วนใน คัมภีร์ไตรภูมิกถา ได้พรรณนาความใหญ่โตโอฬารของช้างเอราวัณไว้อย่างละเอียดพิสดารมาก
ซึ่งสรุปได้ว่า ช้างเอราวัณเป็นช้างที่มีขนาดใหญ่มาก ผิวกายสีขาว มีหัว ๓๓ หัว แต่ละหัว มีงาเจ็ดงา แต่ละอันยาวสี่ล้านวา แต่ละงามีสระโบกขรณีเจ็ดสระ แต่ละสระมีกอบัวเจ็ดกอ แต่ละกอมีดอกบัวเจ็ดดอก แต่ละดอกมีกลีบเจ็ดกลีบ แต่ละกลีบมีธิดาฟ้อนรำอยู่เจ็ดองค์ แต่ละองค์มีบริวารอยู่อีกเจ็ดนาง รวมได้ว่า ช้างเอราวัณ มี ๓๓ หัว มีงา ๒๓๑ งา มีสระบัว ๑,๖๑๗ สระ มีกอบัว ๑๑,๓๑๙ กอ มีดอกบัว ๗๙,๒๓๓ ดอก กลีบบัว ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ เทพธิดา ๓,๘๘๒,๔๗๑ องค์ และบริวารของเทพธิดาอีก ๒๗,๑๗๖,๙๑๙ นาง
ภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ภายในมุขกลางของพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท เมืองโบราณ ตอน ฤาษี ทุรวาสถวายพวงมาลัยแด่พระอินทร์แล้วถูกช้างเอราวัณทำลาย เนื่องจากฉุนกลิ่นเกสรดอกไม้ทำให้ฤาษีทุรวาสโกรธ และสาปแช่งเทวดาให้มีฤทธิ์ลดลง
ในคติโบราณเชื่อว่า บทบาทและหน้าที่อันสำคัญยิ่งของช้างเอราวัณ คือ เป็นพาหนะที่นำเสด็จพระอินทร์ไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งบนสวรรค์และมนุษย์โลก เพื่อดูแลทุกข์สุขของชาวโลก เป็นช้างศึกให้พระอินทร์ออกไปทำการรบกับพวกอสูร ทำหน้าที่ดูแลโลกทางด้านตะวันออกควบคู่กับพระอินทร์ และเนื่องจากพระอินทร์ทรงเป็นหัวหน้าเทพที่คอยควบคุมดูแลดินฟ้าอากาศ มีวัชระสายฟ้าเป็นอาวุธ เป็นศัตรูกับความแห้งแล้ง บันดาลความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มฉ่ำสู่โลกมนุษย์ ช้างเอราวัณจึงมีหน้าที่ดูดน้ำจากโลกขึ้นไปสวรรค์ ให้พระอินทร์บันดาลให้เกิดน้ำจากฟ้าตกลงสู่โลกมนุษย์ โดยเฉพาะประเทศทางเอเชียและเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงประทับใจและชื่นชมในตัวช้างเอราวัณ ที่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวโลก
ช้างเอราวัณนั้น ถือว่าเป็นเจ้าแห่งช้างทั้งปวงในสากลจักรวาล เป็นพาหนะคู่พระทัยของพระอินทร์ เป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของพระอินทร์ คือสัญลักษณ์ของการกระทำความดี และสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และเหตุที่ในทางศิลปกรรมนิยมทำรูปช้างเป็นสามเศียรแทนสามสิบสามเศียรนั้นเป็นการลดรูปทางศิลปะให้มีสัดส่วนที่สมดุลงดงามลงตัว
ช้างเอราวัณสำริด สมัยรัตนโกสินทร์ พุทธศตวรรษที่ 25-26
เป็นต้นแบบของพิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ
ปัจจุบันเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หอคำ เมืองโบราณ สมุทรปราการ